ส่อแววปิด “สนามมวยลุมพินี” ล้มล้างการพนันในเขตทหาร

จากประเด็นที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก มีนโยบายกวาดล้างเรื่องการพนันในวงการกีฬาทั้งหมดไปจากเขตทหาร ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เอาจริงด้วยการมีคำสั่งปิดเวทีมวยค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี, เวทีมวยค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา และปิดสนามม้าค่ายสุรนารี

นอกจากนี้ยังมีคำสั่งด่วนเตรียมที่จะปิดสนามมวยลุมพินี ไม่ให้มีการจัดการแข่งขันชกมวยไทยเพื่อกวาดล้างเรื่องการพนัน โดยกองทัพบกวางแผนที่จะพัฒนาเวทีมวยลุมพินีในปัจจุบันที่ตั้งอยู่บริเวณกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ถ.รามอินทรา กม.2 เป็นศูนย์พัฒนากีฬา ที่เป็นประโยชน์ แก่ประชาชน เช่น สวนสาธารณะ ที่ออกกำลังกายต่อไป

ด้าน พล.ท.สุชาติ แดงประไพ นายสนามมวยลุมพินี ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตามที่โฆษกกองทัพบกได้แถลงไปนั้นกองทัพไม่มีนโยบายให้มีการเล่นการพนันในเขตทหารจริง ซึ่งในส่วนของ สนามมวยลุมพินี จะมีบอร์ดบริหารของกองทัพบกกำกับ ตนเองก็มีหน้าที่ปฏิบัติหากจะดำเนินการอะไรก็ต้องผ่านบอร์ดบริหาร อย่างไรก็ตามการที่มีนโยบายเช่นนี้ออกมาก็เนื่องมาจากสถานการณ์ โควิด-19 ทางกองทัพจึงไม่อยากให้เวทีมวยมีการแพร่เชื้อ ถ้าหากจะจัดการแข่งขันก็ต้องจัดระบบปิด และก็ไม่อยากให้มีการเล่นพนันในช่วงนี้

ซึ่งจากการประกาศดังกล่าวของกองทัพบกทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในวงการมวยไทยเป็นอย่างมาก คนวงการมวยไทยแตกตื่นกันเพราะชื่อของ เวทีมวยลุมพินี อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2499 จัดมวยรายการสำคัญมามากมาย รวมถึงผลิตแชมป์โลกมาแล้วหลายราย และถือเป็นสถาบันหลักเช่นเดียวกับ เวทีมวยราชดำเนิน

Advertisement

พร้อมกันนี้ “บิ๊กติ่ง” พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกของกองทัพบก ได้เปิดเผยว่ากองทัพบกมีแผนการพัฒนาสนามมวยลุมพินี ให้เป็นศูนย์พัฒนากีฬา เพื่อประโยชน์สูงสุดกับประชาชน โดยอยู่ในช่วงของการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาการดำเนินงานว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะทำการเก็บข้อมูลต่างๆ ว่าจะสามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์พัฒนากีฬาชนิดต่างๆ ได้อย่าไรบ้าง

อย่างไรก็ตามต้องศึกษาดูว่ามีข้อติดขัดในเรื่องของสัญญาส่วนไหนหรือไม่ ยืนยันว่าตอนนี้คณะกรรมการกำลังทำการศึกษาข้อมูลต่างๆ ซึ่งก็จะต้องดำเนินการไปตามกรอบเวลา และยังไม่มีแผนที่จะทำหรือไม่ทำในตอนนี้สำหรับสนามมวยลุมพินี

โดยกรอบของแผนการปฏิรูปกองทัพบกจะอยู่ในระยะเวลา 3 ปี เพื่อปรับแนวทางให้เป็นกองทัพที่ทันสมัยตอบโจทย์ภัยคุกคาม และตอบสนองนโยบายรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันายน 2566 โดยในปี 2564 จะมุ่งจัดระเบียบกำหนดแผนงานให้ชัดเจน จากนั้นปี 2565 มุ่งเน้นตามแผนงาน และหลักการเพื่อปฏิรูปกองทัพในทุกมิติ และปี 2566 นำผลการปฏิบัติสู่การปรับปรุงแก้ไขต่อไป